หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน ร่วมกับ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จัดนิทรรศการนานาชาติ “โลกร้าว: เรื่องเล่าขนาดย่อมจากเส้นทางโฮจิมินห์ถึงทุ่งหญ้าสเต็ปป์ (The Shattered Worlds: Micro Narratives from the Ho Chi Minh Trail to the Great Steppe)” โดยมีพิธีเปิดอย่างยิ่งใหญ่ในวันที่ 3 เมษายน นิทรรศการในครั้งนี้นำเสนอผลงานของศิลปินเชิงวิจัย 13 คนจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และยูเรเชีย รวมถึงอู ซาว ยี (Au Sow Yee) และจุน ยัง (Jun Yang) สองศิลปินที่พำนักและทำงานในไต้หวัน โดยครั้งนี้มีหัวข้อเกี่ยวกับยุคสงครามเย็น ยุคสมัยที่จิม ทอมป์สัน ราชาไหมไทยมายังประเทศไทย การสร้างสรรค์ครั้งนี้นำเสนอภูมิหลังทางประวัติศาสตร์และความซับซ้อนของสงครามเย็นในแต่ละภูมิภาค สะท้อนให้เห็นผลกระทบที่ยังคงมีอยู่จนถึงทุกวันนี้ เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 50 ปีของการก่อตั้งมูลนิธิเจมส์ เอช ดับเบิลยู ทอมป์สัน
กฤติยา กาวีวงศ์ ภัณฑารักษ์และผู้อำนวยการประจำหอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน กล่าวในพิธีเปิดว่า หัวข้อของนิทรรศการนี้แบ่งออกเป็นสงครามจิตวิทยา การทูตเชิงวัฒนธรรม การแข่งขันด้านอาวุธนิวเคลียร์และอวกาศ ซึ่งล้วนเป็นคำสำคัญที่สะท้อนถึงยุคสงครามเย็น นอกจากนี้ ยังกล่าวขอบคุณสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย กระทรวงวัฒนธรรมไต้หวัน และกระทรวงวัฒนธรรมโปแลนด์สำหรับการสนับสนุน
อู ซาว ยี เกิดและโตที่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่ไทเป ผลงาน “Still Alive” ของอู ซาว ยีได้รับแรงบันดาลใจจากประวัติศาสตร์ของบุคคลสามคนที่เกิดเหตุไม่คาดคิดหรือหายตัวไปอย่างลึกลับในเอเชีย หนึ่งในนั้นรวมถึงจิม ทอมป์สัน โดยอู ซาว ยีสำรวจความเป็นไปได้อื่นๆ ของพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ผ่านรูปภาพและวัตถุ
จุน ยัง ศิลปินอีกคนที่เดินทางไปมาระหว่างเวียนนา ไทเป และโยโกฮาม่า ผลงาน “The Overview Perspective” ของเขาทำให้ผู้คนได้สัมผัสกับการปรับเปลี่ยนมุมมองสายตา โดยได้แนวคิดมาจาก
คำศัพท์ทางอวกาศที่เรียกว่า “Overview Effect” หมายถึงความรู้สึกที่ว่ามนุษย์มีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับจักรวาล ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อนักบินอวกาศมองดูโลกจากอวกาศหรือพื้นผิวดวงจันทร์ขณะที่บิน
นิทรรศการจะจัดแสดงที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครและหอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 7 มิถุนายน นอกจากนั้นแล้วยังมีกิจกรรมสาธารณะอื่นๆ ตลอดช่วงการจัดแสดง อาทิ การประชุม เสวนาศิลปินและภัณฑารักษ์ โปรแกรมฉายภาพยนตร์ และการเดินสำรวจพื้นที่ เป็นต้น ทำให้ผู้ชมได้เห็นว่าสงครามเย็นมีอิทธิพลต่อภูมิทัศน์ทางสังคมและการเมืองร่วมสมัยผ่านงานศิลปะอย่างไร สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมติดตามได้ที่เว็บไซต์ทางการของ Jim Thompson Art Center: https://www.jimthompsonartcenter.org/
อู ซาว ยี (คนที่ 2 จากขวา) แนะนำผลงาน
จุน ยังแนะนำผลงาน
ผู้ชมชื่นชมผลงาน
กฤติยา กาวีวงศ์ ภัณฑารักษ์ (แถวหลังคนที่ 6 จากซ้าย) จุน ยัง ศิลปิน (แถวหลังคนที่ 4 จากซ้าย) อู ซาว ยี ศิลปิน (แถวหน้าคนที่ 3 จากซ้าย) พินรี สัณฑ์พิทักษ์ ตัวแทนจากมูลนิธิเจมส์ เอช ดับเบิลยู ทอมป์สัน (แถวหน้าคนที่ 2 จากซ้าย) ฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที รองประธานกรรมการมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (แถวหน้าคนที่ 1 จากซ้าย) อดุลญา ฮุนตระกูล ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (แถวหลังคนที่ 5 จากซ้าย) กุ้ย เย่ ฉิน ผู้อำนวยการฝ่ายวัฒนธรรม สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย (แถวหลังคนที่ 1 จากขวา) ถ่ายรูปรวมกับศิลปินที่เข้าร่วมโครงการในพิธีเปิดนิทรรศการ